วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การเรียนแบบ pbl

AgriTech KM System Rotating Header Image

Home > การเรียนการสอน > Problem-based Learning : ตัวอย่างการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ


ณัฐกร สงคราม.

Problem-based Learning : ตัวอย่างการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

จากการร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างอาจารย์รุ่นใหม่ๆ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (23 ธ.ค. 52) พบว่าส่วนใหญ่ทุกท่านก็มีการจัดกิจกรรมหรือใช้เทคนิควิธีการที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมาบ้างแล้ว แต่เพื่อให้อาจารย์มองเห็นภาพของการจัดกิจกรรมตามแนวคิดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ชัดเจน ผมจะทยอยๆ นำรูปแบบหรือเทคนิควิธีการต่างๆ ตามที่มีนักการศึกษาได้คิดค้นขึ้นมามานำเสนอเพิ่มเติมนะครับ เรื่องแรกที่จะยกตัวอย่างก็คือ รูปแบบการเรียนที่ใช้เป็นปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) ซึ่งนิยมใช้มากในการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญหรือการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ความเป็นมาของการเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลัก
การเรียนที่ใช้เป็นปัญหาเป็นหลัก เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เริ่มจากคณะเพทย์ที่มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา ซึ่งคิดค้นวิธีที่จะทำให้ผู้เรียนมีบทบาทที่กระตือรือร้นต่อการเรียนตลอดกระบวนการเรียนการสอน และช่วยให้ความเครียดของผู้เรียนต่ำลง ทางคณะฯจึงจัดให้มีการเรียนรู้ในกลุ่มเล็กในลักษณะการเรียนรู้แบบทบทวน โดยให้มีกระบวนการศึกษาด้วยการแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริงจากกรณีผู้ป่วยจริง และการรักษาพยาบาลจริง ต่อมาจึงได้เผยแพร่แนวคิดนี้ไปยังนานาประเทศทั่วโลกแล้ว
ความหมายของการเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลัก
ถ้าพูดถึงคำจำกัดความก็สามารถสรุปได้ว่า “การเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) หมายถึง รูปแบบการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยใช้สถานการณ์ปัญหาเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้เพื่อนำมาแก้ปัญหานั้น
ลักษณะที่สำคัญของการเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลัก (มัณฑรา ธรรมบุศย์, 2545)
1.    ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้อย่างแท้จริง (student-centered learning)
2.    การเรียนรู้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้เรียนที่มีขนาดเล็ก
3.    ครูผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) หรือผู้ให้คำแนะนำ  (guide)
4.    ใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้
5.    ปัญหาที่นำมาใช้มีลักษณะคลุมเครือไม่ชัดเจน   ปัญหา 1 ปัญหาอาจมีคำตอบได้หลายคำตอบหรือมีทางแก้ไขปัญหาได้หลายทาง (ill- structured problem)
6.    ผู้เรียนเป็นคนแก้ปัญหาโดยการแสวงหาข้อมูลใหม่ ๆ ด้วยตนเอง  (self-directed learning)
7.    ประเมินผลจากสถานการณ์จริง โดยดูจากความสามารถในการปฏิบัติ  (authentic assessment)
กระบวนการของการเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลัก
Bridges (1992) ได้จำแนกการเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลักที่นำไปใช้ในห้องเรียนออกเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบเน้นปัญหา (problem-stimulated PBL) และแบบเน้นผู้เรียน (Student Centered PBL)
1. การเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลักที่เน้นปัญหา (Problem-stimulated PBL) รูปแบบนี้จะใช้บทบาทของปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะแนะนำและเรียนรู้ความรู้ใหม่ การเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลักที่เน้นปัญหานี้ให้ความสำคัญกับเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1) การพัฒนาทักษะเฉพาะเจาะจง  (domain-specific skills) 2) การพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา (problem-solving skills) และ 3) การได้มาซึ่งความรู้เฉพาะเจาะจง (domain-specific knowledge) โดยประกอบด้วยกระบวนการดังต่อไปนี้
1.1    ผู้เรียนได้รับทรัพยากรการเรียนรู้ ดังนี้
1.1.1    ปัญหา
1.1.2    วัตถุประสงค์ที่ผู้เรียนคาดหวังว่าจะได้รับขณะปฏิบัติการแก้ปัญหา
1.1.3    รายการอ้างอิงของทรัพยากรต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์พื้นฐาน
1.1.4    คำถามที่เน้นมโนทัศน์ที่สำคัญและการประยุกต์ใช้ฐานความรู้
1.2    ผู้เรียนร่วมกันทำงานเป็นกลุ่มเพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จ สามารถแก้ปัญหา และทำให้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้
1.2.1    ผู้เรียนแต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ต่างๆ กันในกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นบทบาทผู้นำ ผู้ช่วยเหลือ ผู้บันทึก และสมาชิกกลุ่ม
1.2.2    จัดสรรเวลาที่ชัดเจนในแต่ละช่วงของโครงการ
1.2.3    จัดตารางกิจกรรมการปฏิบัติงานของทีมและวางแผนให้เป็นไปตามเวลาที่กำหนด
1.3    ความสามารถของผู้เรียนถูกวัดโดยผู้สอน เพื่อนร่วมชั้น และตัวผู้เรียนเองโดยใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ การสังเกต และวิธีการประเมินอื่นๆ กระบวนการทั้งหมด ผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนแก่กลุ่ม และให้คำแนะนำ รวมทั้งกำหนดทิศทางถ้ากลุ่มร้องขอหรือเกิดปัญหาอุปสรรคในการทำงาน
2. การเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลักที่เน้นผู้เรียน (Student Centered PBL) รูปแบบนี้คล้ายกับรูปแบบแรกในบางลักษณะ เช่น มีเป้าหมายเหมือนกัน แต่มีสิ่งที่มากกว่าคือ  ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Fostering life-long learning skills) กลุ่มแพทย์เป็นผู้ที่ต้องการการพัฒนาทำงานอยู่ตลอดเวลา ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นส่วนที่สำคัญในการปฏิบัติงาน  เพราะฉะนั้นโรงเรียนแพทย์จึงนิยมใช้รูปแบบนี้ในการเรียนการสอน  โดยประกอบด้วยกระบวนการที่คล้ายกับรูปแบบแรกดังต่อไปนี้
2.1    ผู้เรียนได้รับสถานการณ์ของปัญหา
2.2    ผู้เรียนทำการฝึกปฏิบัติการแก้ปัญหาในรูปแบบกลุ่ม
2.3    ผู้เรียนถูกประเมินผลโดยวิธีการที่หลากหลายโดยผู้สอน เพื่อนร่วมชั้น และตัวผู้เรียนเอง
แม้กระบวนการดังกล่าวจะมีความใกล้เคียงกับรูปแบบแรก แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือในกระบวนการแต่ละขั้นตอนนั้นจะถูกขับเคลื่อนโดยเป้าหมายของการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยภาระความรับผิดชอบของผู้เรียนมีดังนี้
1)    ผู้เรียนระบุปัญหาการเรียนรู้ที่พวกเขาต้องการค้นหา
2)    ผู้เรียนกำหนดเนื้อหาที่ต้องการศึกษา
3)    ผู้เรียนกำหนดและค้นหาแหล่งข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้
4)    โดยสรุปแล้ว ผู้เรียนกำหนดประเด็นที่ต้องการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยตัดสินใจว่าจะใช้ข้อมูลและความรู้ใหม่ที่ได้รับมาแก้ปัญหาได้อย่างไรจึงจะเหมาะสม
จากทั้ง 2 แนวทาง สามารถสรุปได้ว่า กระบวนการเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลัก น่าจะประกอบด้วย 8 ขั้นตอน ดังนี้
1. เตรียมความพร้อมผู้เรียน
ผู้สอนทำการปฐมนิเทศเพื่อให้ผู้เรียนทราบวิธีการเรียนการสอน บทบาทของผู้สอนผู้เรียน การแบ่งกลุ่มผู้เรียน รวมทั้งระยะเวลาในการเรียนหรือเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. เสนอสถานการณ์ของปัญหา
ผู้สอนเกริ่นนำเพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมของผู้เรียนกับสถานการณ์ที่ผู้เรียนจะได้พบ จากนั้นจึงนำเสนอสถานการณ์ปัญหาพร้อมทั้งแจ้งวัตถุประสงค์หรือประเด็นปัญหาที่ต้องการให้แก้ไข รวมทั้งบอกแหล่งข้อมูลที่เตรียมไว้และแหล่งข้อมูลภายนอกที่ผู้เรียนสามารถเข้าไปค้นคว้าได้
3. กำหนดกรอบการศึกษาผู้เรียนวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาร่วมกันภายในกลุ่มเพื่อกำหนดกรอบหรือขอบเขตที่จะศึกษาแนวทางการแก้ปัญหา จากนั้นวางแผนการดำเนินงานและแบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ
4. สร้างสมมติฐานผู้เรียนระดมความคิดเห็นจากสมาชิกทุกคนในกลุ่ม เพื่อเชื่อมโยงแนวคิดของแต่ละคน ซึ่งอาศัยความรู้เดิมเป็นข้อมูลในการสร้างสมมติฐานโดยสร้างสมมติฐานให้ได้มากที่สุด จากนั้นร่วมกันคัดเลือกแต่สมมติฐานที่น่าจะเป็นไปได้ และคัดที่ไม่น่าจะใช่ทิ้งไป
5. ค้นคว้าข้อมูลเพื่อพิสูจน์สมมติฐานในขั้นตอนนี้ผู้เรียนแต่ละคนหรือทั้งกลุ่มค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลภายในและภายนอกตามที่ได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
6. ตัดสินใจเลือกแนวทางแก้ปัญหา
สมาชิกในกลุ่มประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาเลือกสมมติฐานที่น่าจะถูกต้องที่สุดในการนำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา โดยใช้ข้อมูลที่ไปศึกษาค้นคว้ามาประกอบการตัดสินใจ หรือหากมีสมมติฐานที่น่าจะถูกต้องมากกว่าหนึ่ง ก็ให้จัดเรียงลำดับความน่าจะเป็น
7. สร้างผลงาน หรือปฏิบัติตามทางเลือก
นำแนวทางที่เลือกไปทดลองแก้ปัญหา หากแก้ปัญหาไม่ได้ก็ให้ใช้ทางเลือกข้อถัดไป หรือค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงทางเลือกนั้นให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นและนำไปทดลองใหม่อีกครั้ง (ในการนำไปใช้จริงๆ อาจไม่ต้องให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติการทดลองแก้ปัญหาจริงก็ได้ หากปัจจัยต่างๆ ไม่เอื้อ อาจใช้แค่การให้ผู้เรียนตรวจสอบแนวทางการแก้ปัญหาของกลุ่มตนด้วยการสอบถามผู้เชี่ยวชาญภายนอกก็ได้)
8. ประเมินผลโดยวิธีที่หลากหลาย
โดยกลุ่มนำเสนอผลการแก้ปัญหาหรือแนวทางการแก้ปัญหาหน้าชั้นเรียน และทำการประเมินทั้งจากผู้สอน ผู้เรียนกลุ่มอื่นและกลุ่มที่นำเสนอเอง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง การประเมินจะไม่วัดเฉพาะความรู้หรือผลงานสุดท้ายเพียงอย่างเดียว แต่จะวัดกระบวนการที่ได้มาซึ่งผลงานด้วย ซึ่งการประเมินสามารถวัดได้จากแบบทดสอบ แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ การสังเกต หรือวิธีการประเมินอื่นๆ
สรุป
การเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลักจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการเรียน เนื่องจากผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ มากกว่าการรับฟังเนื้อหาจากครูผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว สิ่งสำคัญก็คือสถานการณ์ปัญหาหลักหรือกรณีศึกษาที่นำมาใช้เป็นแรงกระตุ้นและผลักดันให้ผู้เรียนนำความรู้ หรือประสบการณ์ที่มีอยู่เดิมมาใช้แก้ปัญหา ดังนั้นลักษณะของปัญหาต้องมีความน่าสนใจ ท้าทายและน่าค้นหาคำตอบ รวมทั้งควรเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้เรียน เพื่อผู้เรียนจะได้แสดงความสามารถในการแก้ปัญหาโดยการระบุประเด็น โครงสร้าง และเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง
การเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลักทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ในเนื้อหาวิชาที่เป็นการบูรณาการ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา การใช้เหตุผลในการคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจ  อีกทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะการที่ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการเรียน โดยการกำหนดจุดมุ่งหมายการเรียน รู้วิธีการแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆ รวบรวมความรู้และนำมาสรุปเป็นความรู้ใหม่ เป็นลักษณะของการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นทักษะการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการอภิปราย มีวิธีการแสวงหาความรู้และไตร่ตรองทรัพยากรการเรียน ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความหมายสำคัญ ช่วยให้ผู้เรียนเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม ซึ่งการเรียนเป็นกลุ่มย่อยทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนแนวคิดกับผู้อื่นทำให้มีความรู้กว้างขวางมากขึ้น นับเป็นการพัฒนาทักษะทางสังคมให้เกิดกับผู้เรียน
อย่างไรก็ตาม การเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลัก มีข้อจำกัด คือ เป็นการเรียนที่เหมาะสำหรับสายวิชาชีพซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกรายวิชา และในการนำมาใช้ต้องมีการวางแผนและเตรียมการเป็นอย่างดี ผู้สอนจะต้องมีทักษะในการเป็นผู้สอนประจำกลุ่ม ผู้เรียนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเองและให้ความร่วมมือในการเรียนร่วมกัน เป็นห้องเรียนที่เปิดกว้าง และมีแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนศึกษาได้อย่างอิสระ
—————————————————-
การเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นรูปแบบการเรียนที่อาจต้องใช้ระยะเวลาที่นานเป็นสัปดาห์ เดือน หรือทั้งภาคเรียนเพื่อให้ครบกระบวนการ ในครั้งต่อไปผมจะลองนำการจัดในลักษณะของเทคนิคการสอนที่ใช้เวลาไม่นาน อาจจัดได้ภายในชั่วโมงเรียนนั้นๆ มาเป็นตัวอย่าง เผื่ออาจารย์จะลองนำไปทดลองใช้ดูนะครับ
เอกสารอ้างอิง…
มัณฑรา ธรรมบุศย์ (2545) “การพัฒนาคุณภาพการเรียนรูโดยใช้ PBL (Problem-Based Learning),” วารสารวิชาการ ปีท่ี 5 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 11-17.
Bridges, E. M. (1992). Problem based learning for administrators. Eugene, OR: ERIC Clearinghouse on Educational Management. (ERIC Document Reproduction Service No. ED 347 617)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น